Highlight:
- ในยุคสมัยใหม่นี้ การลาออกจากงานประจำที่ทำ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้มากกว่าสมัยก่อน
- มนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานหลายคนมีทัศนคติ ความคิดที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน และเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตมากกว่างานที่พวกเขาทำอยู่ มากไปกว่านั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่จะผ่านมาและผ่านไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
เคยสังเกตกันไหมว่าผู้คนที่ทำงานในที่ใดที่หนึ่ง หรือสายงานใดสายงานหนึ่งเป็นระยะเวลานานมากๆ อย่างน้อยประมาณ 3-5 ปี เป็นอย่างต่ำ จะไม่ค่อยลาออกจากงานกันง่ายๆ หากเทียบกับยุคสมัยใหม่นี้ การลาออกจากงาน หรือย้ายสายงาน กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาซะอย่างนั้น?
ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา McKinsey ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้คนในตลาดแรงงานมากกว่า 13,000 คนทั่วโลก พบว่ากว่า 40% ของคนกลุ่มนี้ ต้องการที่จะลาออกหลังจากทำงานได้ไม่นานเท่าไหร่นัก ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงความคิด และทัศนคติของมนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตมากกว่างานที่พวกเขาทำอยู่ เพราะหากเทียบกับคนรุ่นก่อนแล้วนั้น การลาออกจากงานที่ทำมาหลายปีถือว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก และหลานคนก็ไม่กล้าที่จะออกจาก comfort zone ของตัวเองอีกด้วย
เมื่อเงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้คนตัดสินใจลาออก แล้วสาเหตุอะไรบ้างที่ส่งผลให้อัตราการลาออกนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ?
สุขภาพจิตที่แย่เกิดจากการทำงาน อาการหมดไฟก็เกิดขึ้นตามมาด้วย
สำหรับหลายคน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาจรู้สึกเหมือนการทำงานวนลูปที่ไม่มีวันจบสิ้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า พนักงานในเอเชียได้ทำงานหลายชั่วโมงมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งในทางกลับกันประสิทธิภาพในการทำงานกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพนักงานที่มีลูกอยู่ที่บ้าน อาจจะทำให้การทำงานนั้นยากขึ้นเนื่องด้วยต้องดูแลลูกและทำงานไปด้วย ทำให้บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ซึ่งกลับกัน ส่งผลให้มีผลผลิตที่แย่กว่าเดิม
อาการหมดไฟที่เกิดจาก Work From Home ก็มีผลเช่นกัน เนื้องานของพนักงานหลายคนต้องออกไปพบปะ ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หรือทีมในองค์กร แต่หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้การปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนนั้นน้อยลง จึงไม่แปลกที่การเข้าสังคมที่น้อยลงจะส่งผลให้คนลาออกจากงานเดิม
ความต้องการของ Flexible Working Hour มากขึ้นหลังโควิด-19 เริ่มซา
ในทางกลับกันพนักงานบางกลุ่มก็เลือกที่จะลาออกหลังจากที่บริษัทต่างเริ่มออกมาตราการให้ทุกคนกลับเข้าบริษัทเต็มตัว เพราะหลายๆ คนชอบที่จะทำงานที่บ้านแทนที่จะเข้าออฟฟิศทุกวัน อาจเป็นเพราะความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ดังนั้นหลายคนจึงเลือกที่จะหางานใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า
เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่ลาออกจากงานกำลังเปลี่ยนสาย หรือเส้นทางอาชีพของตัวเอง
“ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ผู้คนจำนวนมากตระหนักว่าอุตสาหกรรมของพวกเขามีความไม่แน่ไม่นอน หรือไม่ปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในแนวหน้า” – บอนนี่ ดาวลิ่ง หนึ่งในผู้เขียนรายงานของ Mckinsey ได้กล่าวไว้
จากรายงานเดียวกันของ Mckinsey นั้น ได้พบว่าประมาณ 48% ของผู้ที่ลาออกต้องการที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็เกิดมาจากโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่แนวหน้าในช่วงนั้น
นอกจากนั้นสาเหตุที่ส่งผลให้คนเปลี่ยนสายงานมากขึ้น หรือเลือกที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองแทน ก็เป็นเพราะได้ค้นพบความชอบ หรือทักษะใหม่ๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียได้เปิดเส้นทางให้ธุรกิจมากมายได้เติบโตผ่าน “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)”
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รายงานเอาไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าธุรกิจ E-commerce ได้ ขยายตัวมากขึ้น จากปี 2563 ถึง 6.11% เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีการปรับตัวต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้แล้ว นอกเหนือจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ก็ได้พบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมานั้นมีประชาชนไทยได้เปิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นปีละ 798 ราย จาก 310 ราย ในช่วงปี 2561 ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนมาทำธุรกิจบนโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนอยู่พอสมควร
แม้ว่าผู้คนจะลาออกจากงานในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่หลายคนก็ไม่ได้ละทิ้งงาน หรือหายไปไหน เพียงพวกเขาก็หางานใหม่ ควบคู่ไปกับการโฟกัสที่สุขภาพจิต ความมั่นคงทางการเงินที่มากขึ้นกว่าเดิม มากไปกว่านั้น บางคนก็อาจกำลังค้นหาเส้นทางอาชีพสายอื่นอยู่ด้วย
ฉะนั้นบอกได้เลยว่า สถานการณ์ที่คนลาออกจากงานประจำจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่ผ่านมาและผ่านไปในระยะเวลาอันแสนสั้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
ETDA เผยมูลค่าตลาด e-Commerce ปี 64 โต 6.11%หลังใช้เทคโนโลยีเพิ่ม-มาตรการรัฐหนุน. (2022, April 1). RYT9. https://www.ryt9.com/s/iq03/3311879
Smet, D., Dowling, B., Hancock, B., & Schaninger, B. The Great Attrition is making hiring harder. Are you searching the right talent pools? (2022, July 13). McKinsey & Company. https://www.mckinsey.com/capabilities/people-and-organizational-performance/our-insights/the-great-attrition-is-making-hiring-harder-are-you-searching-the-right-talent-pools
พาณิชย์ เปิด 12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564. (2021, January 28) .กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Department of Business Development. https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=469419433